กำเนิดน้ำเต้า ตำนานขุนบรม พงศาวดารล้านช้าง

26 สิงหาคม 2018, 20:36:56

...เมื่อครั้งสมัยโบราณนานมาแล้วโน้น แผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ คงเป็นดินเป็นหญ้า มีฟ้ามีแถน ผีแลคนเทียวไปมาหากันไม่ได้ขาด ยังมีขุนใหญ่สามคน คือ ปู่ลางเชิง ขุนเด็ก และขุนคาน ได้อยู่สร้างบ้านเมืองอยู่บนที่ลุ่ม ทำมาหากินโดยการหาปลา ทำนา เลี้ยงชีพต่อ ๆ ตามที่ว่ากินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่ม กินข้าว 

    
...คราวเดียวกันนั้น  แถน คือ ฟ้า หรือเทพเจ้าสิงสถิตอยู่บนฟ้า ได้บอกกล่าวกับคนทั้งหลายว่า “...ในเมืองลุ่มนี้ กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินซิ้นก็ให้ส่งขา ได้กินปลาให้ส่งฮอยแก่แถน...”

   คนในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้าและวิญญาณ หรือภูมิผีสางเทวดา ตลอดจนเรื่องรามอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเหมือนในสมัยนี้ เมื่อแถนหรือคนดีมีวิชามาแนะนำสั่งสอนอย่างไร ก็คงเฉยเมยไม่ได้กระทำตาม บ้านเมืองจึงเกิดอาเพศ มีน้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยถึงความพินาศล่มหายไปตามกระแสน้ำจนหมดสิ้น ดังนั้น ปู่ลางเชิง ขุนเด็ก และ ขุนคาน รู้ว่าแถนโกรธ บันดาลโทสะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาใจแถนในทางใดได้ เพราะบ้านเรือนก็พังทลายไปตามกระแสน้ำหมดแล้ว อาจจะเป็นเพราะพวกตนมาอยู่ที่ลุ่มที่ลึกเกินไป ปู่เชิง ขุนเด็กและขุนคาน กับชาวบ้านที่เหลืออยู่เหล่านั้นจึงพากันหนีตาย โดยพากันสร้างแพไม้อาศัยนำครอบครัวผู้รอดชีวิตทั้งหมด หอบลูกหอบเต้าหนีขึ้นไปเมืองฟ้าเมืองบน


   พระยาแถน จึงถามว่า “สูจักมาเมืองฟ้าตูพี้เฮ็ดสัง” หมายถึง พวกเจ้ามาเมืองของเราทำไม พวกที่หนีน้ำท่วมมาก็เล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นให้ฟังพระยาแถน ได้รับฟังแล้วก็เลยให้อาศัยอยู่บนที่สูงที่เนินได้  ครั้งนั้น พระยาแถนจึงให้พวกเขาไปอยู่ที่ บึงดอนแถนลอ จนน้ำแห้ง พออยู่ไป อาจจะเป็นเพราะความไม่ถนัดในการทำมาหากินบนที่สูงที่เนิน พวกเขาจึงขอพระยาแถนไปอยู่เมืองลุ่มลิดเลียง เมืองเพียงพักยอม พระยาแถน จึงให้เอาลงมาส่ง ให้อยู่ในที่หนึ่ง โดยให้ควายเขาลู่ไปด้วย เพื่อนำไปช่วงทำไร่ทำนาหากินกันต่อไป บริเวณที่ไปอยู่ใหม่นี้เรียกว่า” นาน้อย อ้อยหนู” ซึ่งหมายความว่าเป็นที่มีนาน้อยและอ้อยก็มีแต่ลำเล็ก ๆ เป็นที่ดอนปลูกข้าวก็ไม่งามได้ผลผลิตน้อย ครั้นปลูกอ้อยก็ได้แต่ลำไม่งาม เจ้าบ้านเจ้าเมืองก็ไม่เอาใจใส่ทำนุบำรุงดูแลประชาราษฎร์ ชาวบ้านเกิดความเกียจคร้านไม่สนใจทำมาหากิน เข้าทำนองว่า “ สร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้า ซูมื้อซูวัน นานมาไพร่ค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา...” แต่นั้นมาเขาก็เอาควายมาทำนา อยู่มาสามปีความก็ตาย เขาทิ้งซากควายไว้ที่นาน้อยอ้อยหนู อยู่มาไม่นานก็เกิดน้ำเต้าสามลูก เมื่อน้ำเต้าแก่คนทั้งหลายก็เกิดมาอาศัยอยู่ในน้ำเต้า


   ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กแดงเจาะผลน้ำเต้า คนทั้งหลายก็เบียดกันออกมาจากรูนั้นอย่างคับคั่ง ขุนคามจึงเอาสิ่วไปเจาะรูให้กว้าง คนทั้งหลายก็พากันออกมานานประมาณสามวันสามคืนจึงหมด ผู้ที่ออกมาทางรูเหล็กแดงนั้น แบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งเรียกชื่อว่า ไทยลม พวกหนึ่งเรียก ไทยลี ผู้ที่ออกมาทางรูสิ่วแบ่งออกเป็นสามพวก พวกหนึ่งเรียก ไทยลิง พวกหนึ่งเรียก ไทยลอ พวกหนึ่งเรียก ไทยควาง ปู่ลางเชิงจึงสอนพวกเหล่านั้นให้ทำนา ทอผ้า แล้วให้แต่งงานมีบ้านเรือน มีลูกหญิงชายมาก แล้วสอนให้พวกเขารักพ่อรักแม่ ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่


   คนทั้งหลายที่เกิดจากน้ำเต้า ผู้ที่ออกมาทางรูสิ่วนั้นให้เป็นไทย ผู้ที่ออกมาทางรูเหล็กให้เป็นข้า เมื่อคนมีจำนวนมากไม่มีท้าวพระยาปกครอง ปู่ลางเชิง ขุนเด็ก ขุนด่าน สอนอะไรก็ไม่มีใครเชื่อคำ ขุนทั้งสามจึงขึ้นไปหาพระยาแถนขอท้าวพระยา พระยาแถนจึงให้ ขุนครู และ ขุนครอง ลงมาเป็นท้าวพระยาของเขาเหล่านั้น แต่ขุนทั้งสองลงมาสร้างบ้านสร้างเมืองได้ไม่มาก ขุนเด็กขุนด่านจึงขึ้นไปไหว้พระยาแถน ๆ จึงเอาขุนทั้งสองกลับไป


   พระยาแถนจึงให้ท้าวผู้มีบุญชื่อ ขุนบูลม ลงมา เป็นศรีแก่บ้านแก่เมืองโดยให้ท้าวผู้มีบุญมาเกิด ชื่อ ขุนบูลม หรือขุนบรมมาเป็นเจ้าผู้ครองเมือง  ผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้านั้น ผู้ที่รู้หลักนักปราชญ์ ก็มาเป็นบ่าวไพร่ ขุนบูลม ฯ ส่วนผู้ที่เหลือก็อยู่เป็นไพร่ทำไร่ทำนา ขุนบูลม ฯ ก็เจรจากับเจ้าขุนทั้งหลาย ที่มาพร้อมกับตนว่า ต่อจากนี้ไปเราจะทำอะไรแก่คนทั้งหลายให้รู้จักหากิน พระยาแถน จึงให้แถนแต่ง และ พิศณุกรรม ลงมาบอกการงานแก่มนุษย์ แถนแต่งให้ทำไร่นา ปลูกข้าว ปลูกผัก ลูกไม้ลูกมัน รู้จักทอผ้า และรู้จักใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ แถนแต่งจึงสั่งสอนขุนบูลมว่า ไทยควางให้ออกหาขุนควาง ไทยวีให้ออกหาขุนวี ไทยเลิงให้ออกหาขุนเลิง ไทยเลนให้ออกหาขุนเลน ไทยลอให้ออกหาขุนลอ แล้วสอนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ประพฤติปฏิบัติ จากนั้นพระยาแถน ก็สั่งว่าต่อจากนี้ไปอย่าให้มนุษย์ขึ้นไปหาพระยาแถนอีก และพระยาแถนก็จะไม่ลงไปหามนุษย์อีก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผีและคนก็ไปมาหากันไม่ได้อีก


   ขุนบูลมก็ได้ชักชวนแนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีทำไร่ไถนา ปลุกผักปลูกหญ้า ปลูกผลหมากรากไม้ หัวมันทั้งมวลอันควรกินควรเก็บ จึงเกิดมีพืชพันธุ์ ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนและบ้านเมืองค่อยพัฒนา มีความสุข ความสะดวกสบาย มีลูกเต็มบ้านหลานเกลื่อนเมือง และก็สั่งสอนให้เกิดมีคติวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อถือในกลุ่มชนแบบบรรพบุรุษขึ้น กล่าวคือ มีการยึดถือวิญญาณผีปู่ผีย่า ผีปู่ทวดตาทวด เรียกว่า”เฒ่าเยอ” (ผีผู้ชาย) “เฒ่ายา” (ผีผู้หญิง) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และมีการกราบไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษสืบต่อ ๆ กันมาตราบเท่าทุกวันนี้


   ประเพณีโบราณที่ชาวบ้านเคารพนับถือกันได้แก่เวลาจะทำไร่ทำนา หรือเวลาอยู่เวลากิน ก็จะทำพิธีเรียกวิญญาณของบรรพบุรุษ ควายเขาลู่ไปด้วย คือ 2 เฒ่าดังกล่าวมาแล้วนั้นทุกครั้งไป เมื่อคนเรามีเครื่องยึดเหนี่ยวในชีวิตจิตใจ จึงเกิดแรงศรัทธา ความเชื่อถือ มีการรวมหมู่ทำให้เกิดความสามัคคี บ้านเมืองลูกหลานของขุนบูรมจึงเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น ดังคำว่า ”สร้างบ้านก็จึ่งเปลือง สร้างเมืองก็จึ่งฮุ่ง ฝูงไพร่ก็อยู่ไถนาตกกล้า ฝูงข้าก็อยู่ฟั่งฟันไฮ่เฮ็ดนากินแล”


   ครั้งนั้นดินแดนที่ขุนบูลม พาผู้คนมาสร้างบ้านเมืองอยู่นั้น มีชื่อเรียกว่า“เมืองแถน”บางที่เรียกว่า“เมืองแถง” และขุนบูลมก็ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมือง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า“ขุนบรมราชาธิราช”ได้ครองเมืองแถน พระองค์มีพระมเหสี 2 พระองค์ คือ พระนางแอกแดง(เอดแคง)ซึ่งมีพระโอรส 4 องค์ กับพระนางยมพาลา(ยมภาลา) ซึ่งมีพระโอรส 3 องค์ รวมแล้วมีพระโอรส 7 พระองค์ ได้แก่


   1. ขุนลอ             2. ยี่ผาล้าน                3. สามจูสง          4. ไสผง (ต่อมาเป็น ท้าวไชยพงศ์)           5. งัวอิน              6. ลกกลม (ลุกกลม)     7. เจ็ดเจิง (เจ็ดเจือง)


ต่อมาเมื่อพระโอรสทั้ง 7 เติบใหญ่ขึ้น จึงได้แบ่งสมบัติเพื่อให้ออกไปสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ตามทิศทางที่บอกเพื่อให้ปกครองอยู่กันเองสืบต่อไป พระโอรสแต่ละองค์ได้รับแบ่งสมบัติและออกเดินทางไปตามทิศทางที่ผู้เป็ยพระราชบิดาบอก ดังนี้


   1. ขุนลอ     ได้ฆ้องราง,ง้าวตาว,แม่วีและแหวนธำมรงค์ เลื่อมแสงใสมณีโชติ
   2. ยี่ผาล้าน   ได้หอกมงคลคันคำและหน่วยปัทมราช โชติแสงสิงตะวัน
   3. สามจูสง   ได้เกิบเงิน,ดาบฝักคำและหน่วยมุกตั้ง เลื่อมผิวเงินเลียงล่องนาคราช
   4. ไสผง      ได้หน้าซองคำ,แล่งชายคำและหน่วยเพชร เชิดตั้งแย้งแผ่นบาดาล
   5. งัวอิน      ได้ง้าวปากไชย,ด้ามมาศและหมากนิลเลื่อม ผ่านส่องแสง
   6. ลกกลม    ได้ดาบเหล็กพวนฝักถักหวายและอัมพา ผ่องผายงามปัดตลอดลิงลำไว้ห้า
   7. เจ็ดเจิง     ได้ตาวรางกวนและหน่วยปัดคำแสง เลื่อมหลายหลากแก้ว


   ในระหว่างที่มีการแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่พระโอรสแต่ละองค์อยู่นั้น ช้างทรงที่ตกทอดมาแต่เสด็จปู่ของเจ้าแถนหลวงเชือกหนึ่ง ได้เกิดล้มลงช้างเชือกนี้มีอายุมากและเป็นช้างที่มีงากอมงากอด(มีงายาวปลายไขว้กัน) ผู้เป็นพระราชบิดาจึงให้นำงาทั้งคู่มาตัดออกเป็น 7 ท่อน แบ่งให้กับลูก ๆ ทุกคนก่อน จะชี้ทิศทางให้ลูกแต่ละคนออกไปสร้างบ้านเมืองของตนเอง


   ก่อนที่พระโอรสทั้งหมดจะออกเดินทางไปสร้างบ้านเมืองของตนเองนั้น ขุนบรมราชาธิราช พระราชบิดาได้ทรงให้โอวาท แนะนำพร่ำสอนและย้ำเตือนแก่พระโอรสทั้งหมดก่อนจะแยกย้ายกันออกไปเป็นครั้งสุดท้าย ดังนี้
   “...ถ้าผู้ใดไปสร้างบ้านแต่งเมือง มีบุญญานุภาพมาก ให้เร่งตั้งอยู่ในทางยุติธรรม อย่าได้คิดทัพศึกสงครามยกไปรบพุ่งเบียดเบียน ตีชิงเอาบ้านเมืองแก่กันและกัน ผู้ใดตั้งอยู่ในยุติธรรมราโชวาทของพระราชบิดานี้ ให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป...”

   “...เจ้าพี่น้องหากแม่นลูกกูผู้เดียวดาย เมื่อกูตายไปอยู่ลูกหลังกูพ่อสูเจ้า เจ้าก็ป้านแปงเมือง บุญผู้ใดมีหากได้นั่งบ้านสร้างเมือง อันกว้างขวางว่างใหญ่ บุญผู้ใดมีบ่มีหลาย หากจักได้อันที่แคบขันอันชะแลกปันให้สูเจ้าแล้วดังนี้ ภายหน้าผู้ใดอย่าโลภตัณหาอิจฉามักมาก และเอารี้พลช้างม้าไปตกแดน เอาหอกดาบแขนแพนไปตกท่ง แล้วรบเลวเอาบ้านเมืองกันดังนี้ ให้ผู้นั้นพินาศฉิบหาย ทำอันใดอย่าให้เป็น เข็นอันใดอย่าให้ได้ ปลูกไม้อย่าทันตาย ปลูกหวายอย่าทันล่อน ข้อม่อนอย่าให้รี ปีมันอย่าให้กว้าง เทียวทางให้ฟ้าผ่า เมือป่าให้เสือกิน ไปทางน้ำให้เงือกท่อเรือฉก ไปทางบกให้เสือท่อม้ากินมัน แล...”


   “...เมืองอ้ายไว้แก่อ้าย เมืองน้องไว้แก่น้อง อย่าทำร้ายเบียดเบียนกัน อย่าผิดข้องข่มเหงเอาก็พ่อเทอญ...”
   เมื่อสั่งเสียพระโอรสทุกพระองค์เสร็จแล้ว ขุนบรม ฯ ก็เสด็จสวรรคต พระโอรสทุกพระองค์จึงช่วยกันจัดทำพิธีปลงพระศพพระราชบิดาจนเสร็จสิ้นตามพระราชประเพณี เมื่อถึงกำหนดการเดินทางพระโอรสแต่ละองค์ก็ออกเดินทาง เพื่อไปสร้างบ้านเมืองของตนเองตามพระประสงค์ของพระราชบิดา โดยแต่องค์ได้ไปสร้างบ้านเมืองใหม่ ดังนี้

   1. ขุนลอ          ได้ไปสร้างเมืองชวาขึ้น ต่อมาคือ กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง
   2. ยี่ผาล้าน        ได้ไปสร้างเมืองหอขึ้น คือเมืองหนองแส หรือเมืองประคึง
   3. สามจูสง        ได้ไปสร้างเมืองแกวช่องบัวขึ้น ซึ่งต่อมา คือ เมืองญวน
   4. ไสผง           ได้ไปสร้างเมืองยวนโยนก เมืองลานนา(เชียงใหม่) หงสาวดีขึ้น
   5. งัวอิน           ได้ไปสร้างเมืองชาวใต้ คือ อโยทธยาขึ้น
   6. ลกกลม         ได้ไปสร้างเมืองเชียงคม คือ เมืองอินทปัต เขมรปัจจุบันขึ้น
   7. เจ็ดเจิง          ได้ไปสร้างเมืองพวนขึ้น คือ เมืองเชียงขวางในเขตเมืองพวน


    จะกล่าวถึงเจ้าเจ็ดเจืองได้นำขบวนข้าราชบริพาร ไพล่ฟ้า พลเมือง ออกเดินทางไปถึงยังที่ราบสูงแห่งหนึ่ง มีภูเขาล้อมรอบจำนวนมาก เมื่อขบวนช้างได้ไปถึงบริเวณนั้น ช้างนำขบวนไม่ยอมเดินทางต่อไปอีก ทำอย่างไรก็แสดงกิริยาหันรีหันขวาง วนเวียนไปมาอยู่บริเวณนั้น เจ้าเจ็ดเจือง จึงทรงปรึกษากับท้าวพระยา ข้าราชบริพาร ที่ตามเสด็จมาด้วย บรรดาอำมาตย์ โหราจารย์ จึงทูลว่าน่าจะเป็นบุรพนิมิตอันประเสริฐ ว่าที่บริเวณตรงนี้จะเป็นที่ค้ำคูณพูนผล จึ่งดลบันดาลให้ช้างหยุด ไม่ปรารถนาจะเดินทางต่อไปอีก ดังนั้น เห็นสมควรพระองค์น่าจะได้ตกลงปลงพระทัยหยุดสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ณ บริเวรที่แห่งนี้เถิด


   เจ้าเจ็ดเจืองเมื่อได้ฟังดังนั้น เห็นว่าคงเป็นสิริมงคลแน่แท้ จึงทรงสั่งให้หยุดพักไพล่พล บริวาร ทำการสร้างบ้านสร้างเมือง สถานที่พัก ที่อยู่อาศัยนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองคูน” อันหมายถึง เมืองค้ำเมืองคูณ ซึ่งบริบูรณ์ด้วยพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ เอื้ออำนวยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มั่นคงสถาพร และเจ้าเจ็ดเจืองก็ขึ้นครองราชย์สมบัติปกครองเมืองคูน และมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อๆมาอีกหลายช่วงหลายสมัย จนเปลี่ยนมาเป็นเมืองเชียงขวาง ซึ่งมีภาษาพูด ภาษาเขียนป็นของตนเอง คือ ภาษาพวน และเรียกแทนตัวเองว่า ชาวไทพวน มาจวบจนถึงปัจจุบัน

****************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

คำให้สัมภาษณ์เจ้านางองค์สุดท้ายของเชียงตุง ตอนที่1

ประวัติศาสตร์ว่ากันว่าวัดพันเตาสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงคือเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว

พระปรางค์สามยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ริมทางรถไฟใกล้กับศาลพระกาฬ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

กบฏไพร่ ครั้งในรัชกาลพระเพทราชา

ตำนานของนครโยนก ก็คือตำนานลี่ผีของเจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะได้กล่าวไว้ มีข้อความดังนี้

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน